RSS

การละเล่นของเด็กไทย


การละเล่นของเด็กไทย

กงจักร

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นนำฝาเบียร์มาทับให้แบน เจาะรูตรงกลาง นำเชือกร้อยเข้าไปในรูตรงกลางถือเชือกไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง แกร่งเชือกให้เป็นเกลียวมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วดึงให้ฝาเบียร์จะหมุนอย่างรวดเร็ว

อุปกรณ์

ฝาเบียร์, ตะปู, ค้อน, เชือก

 กระโดดกบ




จำนวนผู้เล่น

ไม่เกิน 10 คน

วิธีเล่น

เอาผ้าผูกขา 2 ข้างของผู้เล่นติดกัน เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้เล่นทุกคนจะกระโดดออกจากเส้นเริ่มต้นไปจนถึงเส้นชัย ใครไปถึงก่อนเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

ผ้าสำหรับใช้ผูกขาเท่าจำนวนผู้เล่น

 กระโดดเชือกคู่



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

เลือกผู้เล่น 2 คนมาจับปลายเชือกคนละข้าง แล้วแกว่งไปด้านข้างทางเดียวกัน  ผู้เล่นที่เหลือเข้าไปกระโดดข้ามเชือกที่กำลังแกว่าง  จะกระโดดทีละคนหรือพร้อมกันหลายๆ คนก็ได้  ถ้าใครกระโดดสะดุดเชือก หรือกระโดดคร่อมเชือก ถือว่าตายต้องไปถือเชือกแกว่ง และให้คนที่ถือเชือกอยู่เดิมมากระโดดแทน

อุปกรณ์

เชือก 1 เส้น ยาวประมาณ 5.10 เมตร

กระโดดเชือกเดี่ยว



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นจับปลายเชือก 2 ข้าง แก่งไปข้างหน้าพอเชือกแกว่งมาถึงปลายเท้าก็กระโดดข้ามเชือกทีละขา หรือพร้อมกันทั้ง 2 ขาก็ได้ ถ้าเหยียบเชือกหรือกระโดดข้ามไม่พ้นเชือกก็ต้องให้ผู้เล่นคนอื่นกระโดดต่อ  ซึ่งในการกระโดดเชือกเดี่ยวนี้บางคนอาจจะแกว่งเชือกไปทางด้านหลังก็ได้

อุปกรณ์

เชือก 1 เส้น มีความยาวเท่ากับความสูงของผู้เล่น (เมื่อจับเชือกสองมือใช้เท้าเหยียบกลางเชือก แล้วยกแขนขึ้นสูงระดับศีรษะของตัวเอง)

 กระโดดยาง

 

จำนวนผู้เล่น

3 คนขึ้นไป

วิธีเล่น

นำหนังยางมาต่อกันคล้ายๆ โซ่ เวลาเล่นจะต้องมีผู้เล่น 2 คนถือยางคนละข้าง ดึงให้ตึงพอสมควร แล้วให้ผู้เล่นที่เหลือกระโดดข้าม แต่ละเกมการเล่นจะแบ่งเป็นระดับตามความสูงของการถือยาง คือจากต่ำไปจนถึงสูง หากผู้กระโดดไม่สามารถกระโดดข้ามได้ในความสูงระดับใดถือว่าแพ้ ต้องหยุดเล่นแล้วนั่งดูผู้ที่เหลือเล่นจนจบเกม

อุปกรณ์

ยาง

 กระต่ายขาเดียว



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ขีดเส้นแบ่งเขตบนพื้น และมีเขตจำกัดเส้นออกไว้ด้วย แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆ กัน ตกลงกันว่าใครจะเป็นกระต่ายก่อน กลุ่มที่เป็นกระต่ายจะคิดคำขึ้นหนึ่งคำ ให้มีพยางค์เท่ากับจำนวนคนในหมู่และจำต้องกำหนดพยางค์ให้แต่ละคนด้วย เมื่อคิดคำได้แล้วหมู่ที่เป็นฝ่ายเล่นทั้งหมดก็จะเป็นผู้เลือกว่า จะเอาพยางค์ใด ฝ่ายกระต่ายคนที่มีพยางค์ตรงกับที่โดนเลือกก็จะวิ่งกระโดดขาเดียวให้เร็วที่สุด และไล่จับแตะคนในฝ่ายเล่น ถ้าคนใดโดนจับหรือถูกตัวกระต่ายก็ต้องออกจากการเล่น แต่ถ้ากระต่ายเปลี่ยนขาหรือขาแตะพื้นจะต้องเปลี่ยนเป็นกระต่ายตัวใหม่ที่ฝ่ายเล่นจะเลือก เมื่อฝ่ายเล่นถูกไล่ตีจนหมดแล้วก็ถือว่าแพ้ ต้องมาเป็นฝ่ายกระต่ายบ้าง

ตัวอย่างการเล่น

ฝ่ายกระต่ายมีสมาชิก 4 คน ก็คิดคำ 4 พยางค์ เช่น ทุเรียนหมอนทอง คนแรกเป็น “ทุ” คนที่2 เป็น“เรียน” คนที่3 เป็น“หมอน” คนที่4 เป็น“ทอง” เมื่อฝ่ายเล่นเรียก“ทอง” คนที่เป็นทองต้องกระโดดขาเดียวไล่จับคนฝ่ายเล่น ถ้าเท้าตกถึงพื้นฝ่ายเล่นจะเลือกคนใหม่อีก จนกว่าจะหมด ถ้าฝ่ายกระต่ายแตะได้ก่อน หรือฝ่ายเล่นวิ่งออกนอกเส้นแบ่งเขต จะหมดสิทธิ์เป็นฝ่ายเล่นต้องมาเป็นฝ่ายกระต่ายแทน

 ก่อกองทราย



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

นำทรายมากองไว้จำนวนมากๆ จากนั้นผู้เล่นทำการก่อกองทราย โดยการโกยทรายทำเป็นรูปร่างต่างๆ ตามจินตนาการ เช่น ปราสาทใหญ่ บ้าน เป็นต้น

อุปกรณ์

ทราย

 กาฟักไข่



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ใช้ผลไม้หรืออะไรก็ได้ สมมุติว่าเป็นไข่ และเขียนวงกลมลงบนพื้น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ฟุต 1 วง และอีกวงหนึ่งอยู่ในวงแรก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต วางทั้งหมดไว้ในวงกลมเล็ก ให้คนใดคนหนึ่งเป็นกา ยืนในวงกลมวงใหญ่ หรือนั่งคร่อมวงกลมเล็ก นอกนั้นทุกคนยืนรอบนอกวงกลมวงใหญ่ คอยแย่งไข่ คนเป็นกามีหน้าที่ป้องกันไข่ โดยมีกติกาการเล่น ดังนี้

1.     ผู้มีหน้าที่หยิบไข่ เข้าไปในวงกลมไม่ได้

2.     ผู้มีหน้าที่หยิบไข่ ต้องระวังมิให้อีกาตีถูกมือ หรือแขนของตน ซึ่งล่วงล้ำเข้าไปในวงกลมได้

3.     ถ้าแย่งไข่ไปจากอีกาได้หมดแล้ว ให้ปิดตากาแล้วเอาไข่ไปซ่อนให้อีกาตามหาไข่ ถ้าพบไข่ที่ผู้เล่นคนใดเป็นคนซ่อน ผู้นั้นต้องเปลี่ยนมาเป็นกาแทน

อุปกรณ์

ก้อนหินหรือผลไม้เท่าจำนวนคนเล่น ยกเว้นคนที่เป็นกา 1 คน

 กำทาย

 



จำนวนผู้เล่น

จำนวน 2 คนขึ้นไป

วิธีเล่น

ก่อนเล่นผู้เล่นต้องจับไม้สั้นไม้ยาว เพื่อให้ผู้ชนะได้เป็นผู้กำทายก่อน และผู้เล่นคนที่ 1 กำเมล็ดถั่วจำนวนเท่าใดก็ได้ไว้ในมือ แล้วให้ผู้เล่นคนอื่นเป็นคนทายว่ามีกี่เมล็ด หากผู้เล่นคนใดทายถูกก็จะได้เป็นเจ้าของเมล็ดถั่วนั้น.

อุปกรณ์

เมล็ดถั่วสำหรับการทาย

 เก้าอี้ดนตรี



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ตั้งเก้าอี้เรียงเป็นวงกลมให้เก้าอี้มีจำนวนน้อยกว่าผู้เล่น 1 ตัว  แล้วให้ผู้เล่นยืนเป็นวงกลมล้อมเก้าอี้ เมื่อเพลงขึ้นให้ผู้เล่นเดินไปรอบวงพร้อมกับรำไปด้วยให้เข้าจังหวะเพลง พอเพลงหยุดผู้เล่นต้องรีบนั่งลงบนเก้าอี้ ผู้ใดที่ไม่มีที่นั่งต้องออกจากการแข่งขันไป แล้วดึงเก้าอี้ออกไป 1 ตัว จากนั้นก็เริ่มเล่นต่อไปจนกระทั่งเหลือผู้เล่น 2 คนสุดท้าย และเหลือเก้าอี้ 1 ตัว ผู้ใดที่นั่งได้ก่อนเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

เก้าอี้

ขาไก่ติดกัน



จำนวนผู้เล่น

ไม่น้อยกว่า 4 คน (ต้องเป็นจำนวนคู่)

วิธีเล่น

ให้จับคู่กันเป็นคู่ๆ แล้วเอาขาข้างใดข้างหนึ่งที่เป็นข้างเดียวกันไขว้กัน หรือเกี่ยวกันโดยหันหลังให้กัน เมื่อเกี่ยวกันได้แล้ว ให้กระโดดอยู่กับที่ ถ้าขาของคู่ใดหลุดออกจากกัน หรือล้มลง คู่นั้นต้องออกจากการแข่งขัน คนที่ยืนอยู่ได้โดยที่ขาไม่หลุดออกจากกันจะเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

ไม่มี

 ขายแตงโม



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

คนหนึ่งเป็นคนซื้อ อีกคนเป็นคนขาย คนขายต้องนั่งยึดเสา หรือยึดสิ่งถาวรเป็นหลักให้คนที่เป็นแตงโมซึ่งจะมีกี่คนก็ได้ นั่งยึดเอวเอาไว้ให้แน่น แล้วให้คนอื่นๆยึดเอวต่อๆกันไป จนหมดจำนวนคน ผู้ขายก็ต้องถามว่า "จะซื้อไปไหน"ผู้ซื้อจะเอานิ้วดีดศรีษะเหมือนดีดแตงโมจริงๆแล้วบอกว่าต้องการใบไหน คนขายให้หยิบเอาเอง คนซื้อก็จะพยายามดึงแตงโมนั้นออกมาผู้ที่เป็นแตงโมก็จะยึดแน่นไม่ยอมปล่อย ถ้าแย่งได้แตงโมคนนั้นต้องเป็นคนซื้อ ระหว่างเล่นจะมีการโต้ตอบกัน

อุปกรณ์

เสาหลัก

 ขี้ตู่กลางนา

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาวเพื่อให้คนแพ้เป็นคนทาย (ว่าวัตถุสำหรับทายอยู่ในมือใคร)เมื่อได้แล้วคนอื่นๆที่ล้อมวงให้คนทายอยู่กลางวง ผู้ที่ล้อมวงเอามือไพล่หลัง คนหนึ่งจะมีวัตถุสำหรับทายอยู่ในมือ ขณะร้องบทร้อง ทุกคนจะทำสีหน้าให้ผู้ทายเข้าใจผิด ถ้าทายถูก คนนั้นต้องไปอยู่กลางวงแทน ถ้าผิดต้องเป็นต่อไป

อุปกรณ์

ไม่มี

เพลงประกอบ

ขี้ตู่กลางนา
ขี้มูกยายแก่
อยู่มือคนไหน
ออระแร้

ขี้ตาตุ๊กแก
ถือไม้อ้อแอ้
จำไว้ให้แน่
ออระชอน

 ขี่ม้าโยนบอล



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องครบคู่

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆกันตั้งวงกลมแล้วเลี้ยงคู่ต่อคู่ฝ่ายแพ้จะถูกฝ่ายชนะขี่หลังแต่ละคู่ยืนห่างกัน 3 - 5 เมตร ผู้ที่ขี่หลังจะโยนลูกบอลส่งให้กับฝ่ายที่ถูกขี่หลังต้องไม่กระดุกกระดิกเวลาที่ฝ่ายขี่โยนลูกบอลถ้าฝ่ายถูกขี่กระดุกกระดิกพยายามให้ลูกบอลตกฝ่ายขี่จะเอาลูกบอลเคาะศรีษะได้ถ้าฝ่ายขี่รับลูกบอลไม่ได้ จะต้องรีบลงจากหลังวิ่งหนี ฝ่ายถูกขี่จะหยิบลูกบอลขว้างได้ฝ่ายขี่ถ้าขว้างไม่ถูกจะต้องถูกขี่ใหม่อีก แต่ถ้าขว้างถูกจะได้เปลี่ยนเป็นฝ่ายขี่แทน

อุปกรณ์

ลูกบอล

 ขี่ม้าส่งเมือง

 

จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่นมีจำนวน 6-8 คน

วิธีเล่น

ผู้เล่นจะถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆกัน และจะมีผู้เล่น 1 คนเป็น “เจ้าเมือง” แต่ละฝ่ายจะผลัดกันเดินมากระซิบบอกชื่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามคนหนึ่งกับเจ้าเมือง จากนั้นอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องส่งผู้เล่นคนหนึ่งออกมาหาเจ้าเมืองบ้าง หากคนที่ออกมาตรงกับชื่อที่อีกฝ่ายมาบอกไว้ เจ้าเมืองก็จะร้องว่า “โป้ง” ผู้เล่นที่ถูกโป้งต้องตกเป็นเชลยและฝ่ายใดถูกจับเป็นเชลยหมดก่อน ก็ต้องแพ้ไปกลายเป็น “ม้า” ให้ฝ่ายชนะขี่หลัง

อุปกรณ์

ไม่มี

 เขย่งเก็งกอย




จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละเท่าๆ กัน ให้พวกหนึ่งเป็นผีเก็งกอย กางแขนทั้งสองข้างออกแล้วกระโดดตีนเดียวไป (เรียกว่าเขย่งเก็งกอย) เมื่อเขย่งเก็งกอยไปพบผู้เล่นอีกพวกหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นชาวบ้านผีกองกอยก็จะร้องถามไปว่า

ผีกองกอย

: เขย่งเก็งกอยเห็นวัวกินอ้อยที่ไหนบ้าง

ชาวบ้าน

: วัวสีอะไร

ผีกองกอบ

: สีแดง

ชาวบ้าน

: ตกน้ำแกงตายไปแล้ว

เมื่อได้รับคำตอบดังนั้นแล้ว พวกที่เป็นผีกองกอยก็จะเขย่งเก็งกอยไป แล้ววนกลับมาหาชาวบ้านอีก แล้วก็ถามกันเหมือนเดิม เพียงแต่จะเปลี่ยนสีของวัวไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าผีกองกอยตอบว่าวัวของเขาสี...

สีขาว

ชาวบ้านจะตอบว่า

ตกน้ำข้าวตายไปแล้ว

สีดำ

ชาวบ้านจะตอบว่า

ตกน้ำครำตายไปแล้ว

สีเขียว

ชาวบ้านจะตอบว่า

ตกน้ำก๋วยเตี๋ยวตายไปแล้ว

สีเหลือง

ชาวบ้านจะตอบว่า

ตกน้ำเหมืองตายไปแล้ว

สีฟ้า

ชาวบ้านจะตอบว่า

ตำน้ำท่าตายไปแล้ว

สีน้ำตาล

ชาวบ้านจะตอบว่า

ตกน้ำมันตายไปแล้ว

ฯลฯ

อาจมีการผลัดเปลี่ยนกันเป็นผีกองกอยบ้างก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน

อุปกรณ์

ไม่มี



แข่งเรือบก

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย เท่าๆ กัน  แล้วทั้ง 2 ฝ่ายนั่งเข้าแถวต่อกันเป็น 2 แถว ห่างกันพอสมควร โดยให้คนแรกของแถวอยู่ในระดับเดียวกัน  คนที่นั่นอยู่ข้างหลังใช้ขารัดเองของคนข้างหน้าไว้ต่อๆ กัน  เมื่อกรรมการให้สัญญาณเริ่มแข่งขัน ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องกระเถิบตัวไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด และไม่ให้ขาหลุดจากเอวคนข้างหน้าเป็นอันขาด ฝ่ายใดไปถึงเส้นชัยก่อนเป็นฝ่ายชนะ

อุปกรณ์

ไม่มี

 โคเกวียน



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน โดยให้ 2 คนจับแขนกันให้แน่นทั้งสองแขน สมมุติว่าเป็น “โค” ส่วนคนที่ 3 สมมุติว่าเป็นเกวียน ต้องขึ้นไปนั่งบนแขนของคนทั้ง 2 นั้น ใช้แขนโอบไหล่คนเป็นโคให้แน่น เมื่อเริ่มการเล่น โคจะต้องวิ่งออกจากจุดเริ่มต้นให้เร็วที่สุด โดยมิให้คนที่เป็นเกวียนตกลงมา และแขนต้องไม่หลุดออกจากกัน กลุ่มใดถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

ไม่มี

 งูกินหาง



จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่นมีจำนวน 8-10 คน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ 1 จะต้องเป็น “พ่องู” 1 คน ฝ่ายที่ 2 มี “แม่งู” 1 คน ที่เหลือเป็น “ลูกงู” ซึ่งผู้เล่นเป็นลูกงูจะต้องเกาะเอวผู้เล่นเป็นแม่งู จากนั้น พ่องูเริ่มถามว่า “แม่งูเอ๋ย” แม่งูและลูกงูก็ร้องตอบว่า “เอ๋ย” พอช่วงท้ายพ่องูถามว่า “กินหัว กินหาง” แม่งูตอบว่า “กินกลางตลอดตัว” ผู้เป็นพ่องูจะไล่จับลูกงูจากปลายแถว ฝ่ายแม่งูจะต้องกางมือเพื่อป้องกันลูก หากลูกงูตัวใดถูกพ่องูดึงจนหลุดออกจากแถวไป ก็จะต้องออกจากการเล่น ผู้เล่นที่เหลือก็เริ่มเล่นกันอีกจนกว่าลูกงูจะถูกจับจนหมด

อุปกรณ์

ไม่มี

 จ้ำจี้

 


จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่นจะมีจำนวน 3-4 คน

วิธีเล่น

ผู้เล่นจะวางมือบนพื้น แล้วเด็กคนแรกเป็นคนชี้นิ้วไปเรื่อยๆ พร้อมกับร้องเพลง “จ้ำจี้มะเขือเปาะ” เมื่อร้องจบแล้วนิ้วชี้ไปตกที่นิ้วของใคร คนนั้นจะต้องหดนิ้วไว้ในอุ้งมือ จากนั้นก็เริ่มร้องเพลงต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายนิ้วใครขาดหายไปมากที่สุดจะถือว่าเป็นผู้แพ้

อุปกรณ์

ไม่มี

เพลงประกอบ

จ้ำจีมะเขือเปราะ
พายเรืออกแอ่น
สาวๆ หนุ่มๆ
อาบน้ำท่าวัด
เอากระจกที่ไหนส่อง

กะเทาะหน้าแว่น
กระแท่นต้นกุ่ม
อาบน้ำท่าไหน
เอาแป้งที่ไหนผัด
เยี่ยมๆ มองๆ นกขุนทองร้องฮู้

 จูงนางเข้าห้อง



จำนวนผู้เล่น

ไม่เกิน 3 คน

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาวว่าใครจะได้ทอดเบี้ยก่อนและตกลงกันว่าจะนับทางหงายหรือคว่ำ ถ้าทอดเบี้ยได้เท่าไรก็นับช่องเดินเบี้ยของตนไปเท่านั้น แต่ถ้าทอดได้ 1 เดินไป 1 ตาราง แล้วมีสิทธิ์ทอดอีกครั้ง หรือถ้าทอดได้ 5 ก็เดินไป 5 ตารางแล้วทอดได้อีกครั้ง ถ้าเบี้ยคนที่สองหรือสามไปตกช่องเดียวกับคนแรกก็เตะคนแรกกลับลงมา ถ้าใครเดินได้จนถึงนางในห้องก็จูงนางออกมา แล้วนับตารางตามวิธีเดิม ถ้าจูงมาแล้วมาเจอใครมาตกช่องนั้นพอดี ผู้นั้นมีสิทธิ์จูงนางแทน ถ้าใครจูงนางออกมาได้ก็เป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

แผ่นกระดาษ (ตีตารางเป็นรูปก้นหอย) เบี้ยสำหรับทอด 5 ตัว และเบี้ยแทนตัวนางและแทนตัวผู้เล่นตามจำนวนนั้น


เฉือนหมู



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ทุกคนที่จะร่วมเล่นต้องนำหนังยางของตนเองคนละเท่าๆ กัน ออกมาวางซ้อนกันบนโต๊ะ แล้วผู้ที่เริ่มเล่นก่อนใช้สันมือเฉือนลงบนกองหนังยางนั้นหนึ่งครั้ง (คล้ายๆ การใช้มีดเฉือนเนื้อหมู) หากมีหนังยางหลุดออกมานอกกองในลักษณะหงิกงอไม่เป็นรูป ผู้ที่เฉือนนั้นก็จะได้หนังยางเส้นนั้นไป ผลัดกันเฉือนวนไปรอบวงเรื่อยๆ จนกว่าหนังยางในกองนั้นจะหมด

อุปกรณ์

หนังยางหรือยางวง

 ชนไก่

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นจับคู่กัน เป็นไก่ชน 2 ตัว มีกี่คู่ก็ได้ แล้วผู้เล่นทั้งหมดนั่งยองๆ ใช้มือ 2 ข้างจับประสานที่ใต้เข่า เมื่อเริ่มการเล่น ให้ไก่ที่จับคู่กันกระโดดเข้ากระแทกกัน หรือใช้ศอกตีกัน โดยมิให้มือที่จับประสานกันใต้เข่าหลุดและต้องไม่ลุกขึ้นยืนเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะถือว่าผิดกติกาต้องออกจากการเล่น ใครถูกกระแทกหรือถูกตีล้มลงถือว่าเป็นฝ่ายแพ้

อุปกรณ์

ไม่มี

หมายเหตุ

ก่อนที่จะเริ่มชนไก่ และหลังจากได้ชัยชนะแล้ว ผู้เล่นอาจจะทำเสียงขันเหมือนไก่ด้วยก็ได้

 ชนช้าง



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ชนช้างเป็นการละเล่นที่ต้องใช้กำลังและความแข็งแรงพอสมควร และเป็นที่ชื่นชอบของเด็กผู้ชาย แบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยให้คนตัวใหญ่เป็นช้างอยู่ด้านล่าง และคนตัวเล็กมีน้ำหนักเบาขึ้นขี่หลัง ใช้เท้าทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า แล้วทั้งสองฝ่ายก็วิ่งเข้าชนกันเหมือนการชนช้าง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้มลงก็ถือว่าแพ้

อุปกรณ์

ไม่มี

 ช่วงรำ



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายละเท่าๆ กัน จับไม้สั้นไม้ยาวเพื่อเลือกฝ่ายที่จะโยนลูกช่วงก่อน เมื่อฝ่ายหนึ่งโยนลูกช่วงไป อีกฝ่ายหนึ่งพยายามรับไว้ให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ ก็ต้องโยนกลับไปให้ฝ่ายปรปักษ์รับบ้าง ทุกครั้งที่รับไม่ได้ต้อง “โยน” กลับไป ครั้งใดที่รับได้ก็ “ขว้าง” กลับไปให้ถูกคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายที่ถูกขว้างนั้นก็ต้องคอยหลบให้พ้น ถ้าหลบพ้นก็โยนลูกช่วงกลับไป ถ้าหลบไม่พ้น ลูกช่วงถูกใครก็ตาม คนนั้นจะต้องถูกล้อมวงโดยผู้เล่นทั้งสองฝ่ายทันที แล้วร้องคำกลอนให้ผู้ที่ถูกล้อมวงนั้นรำวง

อุปกรณ์

ไม่มี

เพลงประกอบ

โอ้เจ้าพวงมาลัย
เจ้าลอยละล่อง

ควรหรือจะไปจากห้อง
เข้าในห้องไหนเอย

 ชักคะเย่อ

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ให้มีจำนวนเท่ากันๆ กัน แล้วให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจับสลากหรือจับไม้สั้นไม้ยาวเลือกแดน ผู้เล่นจะไปยืนประจำที่ข้างเชือกที่วางกะระยะให้ห่างกัน พอให้ไม่ชนกันได้ขณะเอนตัวดึงเชือก เมื่อวางระยะดีแล้ว ผู้เล่นจะดึงเชือกให้สูงพอเอว ผู้ตัดสิน จะไปยืนตรงเส้นศูนย์กลาง เมื่อผู้ตัดสินให้สัญญาณ ทั้งสองฝ่ายจะลงมือดึงเชือก พยายามให้อีกฝ่ายหนึ่งลู่ไปทิศทางของตน แต่ละฝ่ายมีผู้ให้สัญญาณเพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน ผู้ที่อยู่ต้นเชือกและหางเชือกเป็นคนสำคัญยิ่งในระหว่างดึงนั้น ถ้าผู้ใดเสียหลักยันพื้นไม่อยู่ก็จะเสียกำลัง ความสนุกอยู่ที่ผู้ให้สัญญาณและผู้เล่นที่มีสีหน้าต่างๆ กัน ถ้าฝ่ายใดดึงให้อีกฝ่ายหนึ่งให้ลู่ตามไปจนถึงเส้นชัยจะเป็นฝ่ายชนะ

อุปกรณ์

เชือกเส้นใหญ่ที่มีความเหนียวพอจะทานกำลังของผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายได้

 ซักส้าว

 

จำนวนผู้เล่น

2 คนขึ้นไป

วิธีเล่น

ผู้เล่นยืนหันหน้าเข้าหากัน ยื่นมือทั้งสองยึดกัน แล้วโยกแขนไปมา พร้อมทั้งร้องเพลง

อุปกรณ์

ไม่มี

เพลงประกอบ

ซักส้าวเอย
ขุนนางมาเอง
มือใครยาวสาวได้สาวเอา

มะนาวโตงเตง
จะเล่นซักส้าว
มือใครสั้นเอาเถาวัลย์ต่อเข้า

ดมดอกไม้


จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แขวนดอกไม้ให้ห้อยอยู่ในระดับที่ตรงกับจมูกของคนที่ถูกปิดตาจับสลากเรียงลำดับเสี่ยงทายว่าใครจะเล่นก่อน เล่นหลัง คนที่เริ่มเล่นก่อนจะต้องถูกปิดตา แล้วให้ผู้ที่จะถูกปิดตาเดิน 5-6 ก้าว จากจุดที่แขวนดอกไม้ หยุดแล้วหันหน้ามาทางดอกไม้ เพื่อเอาผ้าผูกตา จับหมุน 3 รอบ แล้วหันหน้าให้ตรงกับดอกไม้ปล่อยให้เดินตามกลิ่นดอกไม้ ให้ใช้จมูกอย่างเดียว ห้ามใช้มือควานหา ผู้เล่นมีสิทธิ์เล่นได้ 2 ครั้ง เมื่อครั้งแรกดมไม่ถูกผู้ดูคนหนึ่งพาตัวผู้ดมดอกไม้ไปยืนที่ดอกไม้ให้ดมดอกไม้อีกครั้งจากนั้นจึงให้เดินออกจากดอกไม้ 5 ก้าว ให้หันกลับไปทางดอกไม้อีก ถ้าดมดอกไม้ถูกก็ชนะ คนต่อไปก็เล่นตามลำดับ

อุปกรณ์

ดอกไม้หลายชนิด



ดาบทางมะพร้าว



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

นำทางมะพร้าวมาตัดใบของมะพร้าวออกให้หมด ตัดก้านให้ได้ความยาวตามต้องการ ใช้มีดกรีดก้านมะพร้าวออกทั้งสองข้างให้ได้ความบางของดาบ โดยเว้นด้ามจับไว้ ตัดปลายให้แหลมก็จะได้ดาบที่มีเนื้อเป็นสีขาว

อุปกรณ์

ทางมะพร้าว (ก้านของต้นมะพร้าว), มีด (สำหรับกรีดใบ)

ดิน น้ำ อากาศ


จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ใช้ผ้าเช็ดหน้า 1 ผืน ให้ผู้เล่นนั่งล้อมเป็นวงกลม ให้คนใดคนหนึ่งถือผ้าเช็ดหน้า แล้วปาไปยังผู้เล่นคนหนึ่งพร้อมกับพูดว่า “ดิน” แล้วนับ 1 ถึง 10 โดยเร็ว คนที่ถูกปาต้องรีบเอ่ยชื่อสัตว์บกก่อนที่ผู้ปาจะนับถึง 10 ถ้าหากยังนึกไม่ออกจะต้องถูกเขกพื้น 3 ที แล้วคืนผ้าให้คนปา  คนปาก็ปาคนต่อไปอีก ถ้าคนถูกปาตอบได้ในเวลาที่กำหนด ก็มีสิทธิ์ปาคนอื่นต่อไป  ถ้าคนปาพูดว่า “น้ำ” คนถูกปาต้องเอ่ยชื่อสัตว์น้ำ  ถ้าคนปาพูดว่า “อากาศ” คนถูกปาต้องเอ่ยชื่อสัตว์ที่มีปีกบินได้

อุปกรณ์

ผ้าเช็ดหน้า

 ดีดเม็ดมะขามลงหลุม

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาวว่าใครจะเล่นก่อน ผู้เล่นคนอื่นๆ จะเลือกให้ดีดเม็ดใดก็ได้แล้วทำมือเป็นหลุมป้อง ถ้าเม็ดแรกลงหลุมได้ก็ดีดเม็ดต่อไปจนได้เท่าที่สามารถ ถ้าดีดไม่ได้ถือว่า ตาย ให้ผู้อื่นเล่นทำนองเดียวกัน เวลาดีดใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ เมื่อเล่นได้เม็ดมะขามจำนวนเท่าใด นำมานับแข่งกัน

อุปกรณ์

เม็ดมะขาม

 เดินกะลา





จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นยืนบนกะลา ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้คีบเชือกที่ก้นกะลาไว้ทั้ง 2 เท้า แล้วเอามือดึงเชือกให้ตึง เมื่อได้สัญญาณ ทุกคนจะรีบเดินไปให้ถึงเส้นชัย ใครถึงก่อนถือว่าเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าระหว่างที่เดินไปคนใดเท้าตกจากกะลาไปถูกพื้นก็เป็นผู้แพ้

อุปกรณ์

กะลาครึ่งซีกเจาะรูที่ก้นกะลา แล้วเอาเชือกยาวประมาณ 2 เมตร ร้อยที่รูกะลาเป็นคู่ๆ ปลายเชือก 2 ข้าง ผูกปมไว้ในกะลาเพื่อไม่ให้หลุด

หมายเหตุ

ทางใต้เรียก “กุบกับ”

 ตบแผละ



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

เป็นการละเล่นที่มีการใช้จังหวะการเล่นเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน เด็กๆ มักเรียกว่า "ตบแผละ" การละเล่นชนิดนี้ไม่มีผลแพ้ชนะเหมือนการละเล่นอย่างอื่น แต่ความสนุกสนานอยู่ที่บทร้องและจังหวะ โดยการพนมมือแล้วยื่นไปข้างหน้า หันฝ่ามือประกบกัน แต่ละคำร้องผู้เล่นก็ต้องปฏิบัติตามบทร้องนั้น เช่นตบบนก็ต้องตบมือข้างบน หรือตบหลังก็ใช้หลังมือตบกัน เป็นต้น

อุปกรณ์

ไม่มี

เพลงประกอบ

ตบแผละ... ตบแผละ... ตบบน... ตบล่าง... ตบหน้า... ตบหลัง...

 ตะกร้อ

 

การเล่นตะกร้อเป็นทั้งการละเล่นและกีฬาที่สำคัญของคนไทย

จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่นมีจำนวน 3-5 คนขึ้นไป

วิธีเล่น

ผู้เล่นยืนล้อมกันเป็นวงกลม ใช้เท้าเดาะ และเตะส่งไปให้ผู้เล่นคนอื่นรอบวงกลม ผู้เล่นคนใดทำลูกตะกร้อตกพื้น ก็จะเสียคะแนน

อุปกรณ์

ตะกร้อสานจากไม้หวาย หรือไม้ไผ่


ตะล็อกต๊อกแต๊ก





 จำนวนผู้เล่น

6 – 8 คน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นใครก็ได้จำนวนหนึ่งคนเป็นผี ที่เหลือให้เป็นชาวบ้าน แล้วผีก็เดินมาหาชาวบ้าน

ชาวบ้าน :

ตะล็อกต๊อกแต๊กมาทำไม

ผี :

มาซื้อดอกไม้

ชาวบ้าน :

ดอกอะไร

ผี :

ดอกจำปี

ชาวบ้าน :

ยังไม่มี

ผี :

ดอกจำปา

ชาวบ้าน :

ยังไม่มา

ผี :

ดอกกุหลาบ

ชาวบ้าน :

ยังไม่ทราบ

ผี :

ดอกมะลิ

ชาวบ้าน :

ยังไม่ผลิ

ผี :

ดอกเจ้าชู้

ชาวบ้าน :

ยังไม่รู้

ผี :

ไปดูหนังไหม

ชาวบ้าน :

เรื่องอะไร

ผี :

เรื่องผีดิบ

ชาวบ้าน :

ไม่มีสตางค์

ผี :

จะออกให้

ชาวบ้าน :

ไม่เสื้อผ้าจะใส่

ผี :

จะหาให้

ชาวบ้าน :

ไปก็ไป





แล้วผู้เล่นทั้งหมดก็เดินตามกันไปประมาณ 1 รอบ แล้วผู้เล่นคนหนึ่งทำเป็นเสียงหมาหอนขึ้น

ชาวบ้าน :

หมาทำไมถึงหอน

ผี :

มันเห็นผี

ชาวบ้าน :

ผมเธอทำไมถึงยาว

ผี :

ฉันปล่อยไว้

ชาวบ้าน :

เล็บเธอทำไมถึงยาว

ผี :

ฉันปล่อยไว้

ชาวบ้าน :

หน้าเธอทำไมถึงขาว

ผี :

ฉัดผัดหน้า

ชาวบ้าน :

ตาเธอทำไมถึงโบ๋

ผี :

ฉันเป็นผี

ชาวบ้านก็วิ่งหนีให้เร็วที่สุด ผีก็จะไล่จับ ถ้าจับใครได้คนนั้นจะต้องมาเป็นผีแทน

อุปกรณ์

ไม่มี


ตะแล้ปแก็ป



จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่นมีจำนวน 2 คน

วิธีเล่น

ผู้เล่นถือตะแล้ปแก๊ป สุดปลายเชือกดึงเชือกให้ตึง สลับกันพูดและฟัง

อุปกรณ์

กระบอกไม้ไผ่, กระดาษ และเชือก วิธีทำตะแล้ปแก๊ปจากกระบอกไม้ไผ่ ประกอบกับกระดาษทากาว เจาะรูใช้เชือกร้อย ทั้ง 2 กระบอก

 ตีไก่




จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ไม่ได้หมายถึงไก่ชนที่ผู้ใหญ่ใช้ตีกัน แต่เป็นไก่ที่มาจากข้อของต้นหญ้าชนิดหนึ่งที่แตกหน่อออกยอดของหญ้า เด็กๆ จะชอบเก็บส่วนนั้นมาเล่นตีไก่ โดยให้มีด้ามจับพอประมาณแล้วใช้ไก่นั้นมาฟาดกัน หากไก่ของผู้ที่ถูกฟาดขาดจากกันเป็นผู้แพ้ ต้องเปลี่ยนไก่ตัวใหม่มาเล่นแทน โดยผลัดกันตีคนละครั้ง ไก่ที่ดีต้องมีก้านที่ใหญ่ เหนียว จึงจะสามารถสู้คู่แข่งได้

อุปกรณ์

ต้นหญ้าชนิดหนึ่ง

 ตี่จับ



จำนวนผู้เล่น

แบ่งเป็น 2 ฝ่าย เท่าๆ กัน ฝ่ายละ 3 – 12 คน

วิธีเล่น

ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนไว้ แล้วตกลงกันว่าใครจะเป็นคนตี่ก่อน โดยยืนอยู่คนละด้านของเส้นแบ่งเขต ฝ่ายที่เป็นคนตี่จะผลัดกันออกไปในแดนของฝ่ายตรงข้ามพร้อมกับทำเสียง “ตี่” โดยไม่อ้าปาก และพยายามใช้มือแตะตัวฝ่ายตรงข้ามให้ได้จำนวนมากที่สุด แล้วรีบวิ่งกลับแดนของตน ผู้ที่ถูกแตะตัวก็ต้องไปเป็นเชลยของฝ่ายตรงข้าม รอให้ฝ่ายของตนตี่เข้าไปช่วย  เจ้าของแดนก็ต้องช่วยกันป้องกันไว้ไม่ให้คนตี่แตะมือช่วยเชลยได้ ฝ่ายใดถูกจับตัวเป็นเชลยหมดก็เป็นฝ่ายแพ้

อุปกรณ์

ไม่มี

 ตีลูกล้อ



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

นำลูกล้อมายังจุดเริ่มต้น ใช้ไม้ส่งลูกล้อตีลูกล้อให้กลิ้งไป คอยเลี้ยงลูกล้อไว้ให้กลิ้งไปข้างหน้าโดยไม่ให้ลูกล้อสะดุดพลิกคว่ำ หากใครถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

ไม้ส่งขนาดเหมาะสมกับมือผู้เล่น

 เตย



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ขีดเส้นบนพื้นเป็นตารางเท่ากับจำนวนคนที่เล่น แล้วแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้คอยกั้น ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้วิ่ง ฝ่ายที่กั้นจะยืนประจำเส้นของตัวเอง  คอยกั้นไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งวิ่งผ่านไปได้  ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งจะพยายามล่อหลอกให้คนกั้นเผลอเพื่อจะวิ่งผ่านไปให้ถึงเส้นสุดท้ายให้ได้  ถ้าคนใดถูกคนกั้นแตะถูกตัวฝ่ายที่วิ่งทั้งหมดจะต้องเปลี่ยนไปยืนกั้นบ้าง แต่ถ้าสามารถวิ่งผ่านไป แล้ววิ่งกลับมาได้จนถึงเส้นเริ่มต้นก็ต้องพูดดังๆ ว่า “เตย” แสดงว่าชนะแล้ว จะเริ่มเล่นใหม่อีกโดยฝ่ายชนะเป็นผู้วิ่งเช่นเดิม

อุปกรณ์

ไม่มี

 แตะหุ่น


จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

จับไม้สั้นไม้ยาว เลือกผู้เล่นคนหนึ่งเป็นคนวิ่งไล่ คนอื่นๆ หลอกล่อ เมื่อคนวิ่งไล่ไปแตะใคร คนนั้นต้องหยุดนิ่งในท่าทีกำลังกระทำอยู่นั้น จะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่าไม่ได้ ถ้าเคลื่อนไหวคนนั้นก็ตายต้องมาเป็นคนไล่แทน ถ้าแตะได้หมด และทุกคนเป็นหุ่นหมด ผู้วิ่งไล่จะแสดงท่าหลอกล่อต่างๆ ให้ยิ้ม หัวเราะหรือเคลื่อนไหว ใครเคลื่อนไหวต้องมาเป็นคนวิ่งไล่แทน

อุปกรณ์

ไม่มี


ทอดแห




จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ให้ฝ่ายหนึ่งเป็นปลา อีกฝ่ายหนึ่งจับมือต่อกันเป็นแถวยาว สมมุติว่าเป็นแหจับปลา เมื่อเริ่มการเล่น ผู้ที่เล่นเป็นปลาจะยืนอยู่ห่างๆ กัน ส่วนแหจะต้องวิ่งเข้าไปหาปลาเพื่อจะพยายามล้อมปลาไว้ให้ได้ โดยต้องจับมือกันให้แน่นอย่าให้หลุดออกจากกันเป็นอันขาด  ปลาก็ต้องวิ่งหนีไปให้ได้ ถ้าหนีไม่พ้นถูกล้อมอยู่กลางวงเมื่อใด แสดงว่าปลาติดแหแล้ว จะต้องออกจากการแข่งขันไป ผู้ที่เป็นแหก็จะไปล้อมจับปลาตัวใหม่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเหลือผู้ที่เล่นเป็นปลาเพียงคนเดียว ผู้นั้นก็เป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

ไม่มี

 ทอยเส้น

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ขีดเส้นสำหรับการเล่น 1 เส้น ผู้เล่นจะมีเหรียญคนละอัน (ต้องเป็นเหรียญขนาดเดียวกัน) ตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้โยนก่อนหรือหลัง ผู้เล่นต้องโยนเหรียญให้ใกล้เส้นมากที่สุด โดยผู้ที่โยนเหรียญใกล้เส้นมากที่สุด จะเป็นผู้ใช้เหรียญของตนเองนั้นทอยหรือโยนให้โดนเหรียญของผู้ที่อยู่ใกล้เป็นอันดับต่อมา หากโยนเหรียญของตนโดนเหรียญของผู้นั้นก็จะได้เหรียญนั้นไป และได้มีสิทธิโยนเหรียญให้โดนเหรียญผู้ที่มีอันดับต่อมาตามลำดับ

อุปกรณ์

เหรียญสำหรับโยน


น้ำขึ้นน้ำลง

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นจับคู่กันเป็นคู่ๆ แล้วหันหลังชนกัน เอาแขนเกี่ยวกันไว้ คนหนึ่งบอกว่า “น้ำขึ้น” และก้มลงโดยดึงคนที่เกี่ยวแขนกันไว้นอนหงายลงมาบนหลังด้วย พอคนที่นอนหงายบอกว่า “น้ำลง” ก็ล้มตัวลงบ้าง สลับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหยุดเล่น

อุปกรณ์

ไม่มี

 ปลาหมอตกกะทะ

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนั่งเป็นวงกลมจับมือต่อกัน กลุ่มที่ 2 ยืนอยู่นอกวง และพยายามกระโดดเข้าไปในวงกลมให้ได้ ผู้ที่นั่งอยู่ต้อง พยายามยกมือที่จับกันไว้ขึ้นสูงเพื่อกั้นเอาไว้ ถ้าถูกตัวหรือชายกระโปรง กางเกงของคนกระโดด ก็ถือว่าตายต้องมานั่งจับมือเป็นกะทะด้วย พอปลาหมอกระโดดเข้าไปหมดก็ต้องพยายามกระโดดกลับออกมาอีก แล้วผลัดกันให้กะทะไปเป็นปลาหมอคอยกระโดดข้ามบ้าง

อุปกรณ์

ไม่มี

 ปิดตาคลำทาย

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

คัดเลือกผู้เล่นคนหนึ่งผูกตาเอาไว้ คนอื่นๆ จับมือกันเป็นวงกลมล้อมคนที่ถูกผูกตาไว้ แล้วเดินวนไปรอบๆ ประมาณ 3 รอบ แล้วหยุดอยู่กับที่ จะนั่งหรือยืนก็ได้ คนที่ผูกตาก็จะเดินหา เมื่อพบคนใดก็เอามือคลำจนแน่ใจก็ทายว่าผู้นั้นเป็นใคร ถ้าทายถูกคนผู้นั้นต้องถูกปิดตา และเริ่มเล่นต่อไป ถ้าทายไม่ถูกก็จะต้องคลำคนต่อไป

อุปกรณ์

ผ้าสำหรับผูกตา

 ปิดตาตีหม้อ



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นผลัดกันผูกตาทีละคน ผู้ที่ถูกผูกตาจะถือไม้เดินไปตีหม้อ ถ้าตีถูกก็ชนะ แล้วให้คนอื่นปิดตาไปตีหม้อบ้าง

อุปกรณ์

1. หม้อดิน  กระป๋องตักน้ำ  หรือปี๊บ

2. ไม้ตี 1 อัน

 ปืนก้านกล้วย



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

นำก้านกล้วยมากรีดใบทั้งสองข้างออก ตัดความยาวของก้านยาวพอสมควรประมาณ ใช้มีดเฉือนย้อนก้านกลับมาประมาณ 5 เซนติเมตร งัดให้หักขึ้น ปืนหนึ่งกระบอกเฉือนประมาณ 4-5 อัน เวลายิงใช้มือดันให้ก้านกล้วยที่เฉือนไว้พับลงอย่างเร็ว จะมีเสียงดังคล้ายเสียงปืนรัว ปัง...ปัง...ปัง...

อุปกรณ์

ก้านกล้วย, มีด (สำหรับกรีดใบ)


เป่ากบ




จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่นมีจำนวน 2 คนขึ้นไป

วิธีเล่น

ผู้เล่นจะต้องเป่ายิ้งฉุบกัน ผู้ชนะจะได้เป่ากบก่อน ผลัดกันเป่าคนละครั้ง ฝ่ายใดสามารถเป่ายางวงของตน ให้กระโดดไปทับบนยางวงของฝ่ายตางข้ามได้ก่อนจะถือเป็นผู้ชนะ และจะได้รับยางวงเส้นนั้นๆ ไป

อุปกรณ์

ยางวง (หนังสะติ๊ก)


เป่ายิงฉุบ

 




จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

กำมือของตนเอง แล้วแอบไว้ข้างหลัง แล้วร่วมร้องว่า "ยี หญี่ ยี่ ยา หย่า ย่า ซื้อน้ำปลาตราหัวสิงห์ จับผู้หญิงมาทรมาร จับผู้ชายมาทรยศ จับแม่มดมาดึงสะดือ จับกิ้งกือมาทำก๋วยเตี๋ยว จับแมวเหมียวมาเต้นระบำ จับแมวดำมาเป่ายิงฉุบ" แล้วยื่นมือออกมาข้างหน้าพร้อมๆ กัน โดยให้ใช้สัญลักษณ์แทนความหมายคือ แบมือ กำมือ ยื่นนิ้วชี้และนี้วกลางออก ซึ่งแต่ละสัญลักษณ์ มีความหมายผลแพ้ชนะต่างกัน หากมีการยื่นออกมาเหมือนกันก็เล่นใหม่จนกว่าจะมีผลแพ้ชนะ แต่บทร้องจะสั้นลงเพียงแค่ "ยัง ยิง เยา ปั๊กเป่ายิงฉุบ"

อุปกรณ์

ไม่มี

ความหมายผลแพ้ชนะ
แบมือ

หมายถึง กระดาษ ชนะค้อน แพ้กรรไกร
กำมือ

หมายถึง ค้อน ชนะกรรไกร แพ้กระดาษ
ยื่นนิ้วชี้และนิ้วกลางออก

หมายถึง กรรไกร ชนะกระดาษ แพ้ค้อน


โป้งแปะ หรือซ่อนหา



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ให้ผู้เล่นคนหนึ่งปิดตา แล้วนับ 1 – 100 เพื่อให้คนอื่นๆ ที่เหลือไปซ่อนตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ในบริเวณใกล้ๆ เมื่อคนปิดตานับไปครบ 100  ก็เดินค้นหา เมื่อพบคนใดก็พูดดังๆ ว่า “โป้ง (ชื่อคนที่ถูกพบตัว)” แล้วหาต่อไปจนได้ครบหมดทุกคน คนที่ถูก “โป้ง” คนแรก จะต้องเป็นคนปิดตาแทน แต่ถ้าคนซ่อนเห็นคนหาก่อนจะวิ่งเข้าไปใช้มือแตะตัวคนหาพร้อมกับพูดว่า “แปะ” คนหาก็จะต้องปิดตาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

อุปกรณ์

ไม่มี

 พุ่งจรวด



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

เมื่อผู้เล่นนำกระดาษมาพับจรวดแล้วนำมาพุ่งเล่น หากผู้เล่นคนใด สามารถพุ่งจรวดได้ไกลที่สุดก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

กระดาษ

โพงพาง

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

เลือกคนเป็นปลา 1 คน โดยเอาผ้าผูกตาแล้วจับตัวหมุน 3 รอบ แล้วผู้เล่นคนอื่นๆ ก็จับมือล้อมวงกันเดินเป็นวงกลมรอบตัวคนที่เป็นปลา พร้อมกับร้องเพลงประกอบด้วย เมื่อเพลงจบก็นั่งลงถามคนเป็นปลาว่า “ปลาเป็นหรือปลาตาย” ถ้าปลาตอบว่า “ปลาตาย” คนที่นั่งล้อมวงอยู่ต้องนั่งเฉยๆ แต่ถ้าตอบว่า “ปลาเป็น” คนที่นั่งล้อมวงอยู่จะหนีหรือย้ายที่นั่งได้ แล้วคนที่เป็นปลาจะคลำหาตัวผู้เล่นที่ล้อมวงอยู่ ถ้าเจอตัวแล้วทายถูกว่าเป็นใคร ผู้นั้นต้องเป็นปลาแทน ถ้าทายผิดก็ต้องเป็นปลาต่อไป

อุปกรณ์

ผ้าสำหรับผูกตา 1 ผืน

เพลงประกอบ

โพงพางเอย
ปลาตาบอด
โพงพางเอย
เสือปลาตาบอด

ปลาเข้าลอด
เข้าลอดโพงพาง
นกกระยางเข้าลอด
เข้าลอดโพงพาง

 มอญซ่อนผ้า

 



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

เลือกผู้เล่นคนหนึ่งเป็นมอญถือผ้าไว้ ส่วนคนอื่นๆ นั่งล้อมวงกัน แล้วตบมือร้องเพลง คนเป็นมอญจะเดินวนอยู่นอกวง พอเห็นคนนั่งคนใดเผลอก็ทิ้งผ้าไว้ข้างหลังคนนั้นแล้วเดินต่อไป ถ้ามอญเดินมาถึงอีกครั้งผู้นั้นยังไม่รู้ตัวมอญก็คว้าผ้าไล่ตี ผู้ที่เป็นมอญก็ถือผ้าเดินวนไปวางผ้าคนอื่นต่อไป แต่ถ้าคนถูกวางผ้ารู้ตัวก็จะคว้าผ้าไล่ตีมอญ จนกระทั่งมอญลงไปนั่งแทนที่ คนที่ถือผ้าก็เป็นมอญต่อไป

อุปกรณ์

ผ้า 1 ผืน

เพลงประกอบ

มอญซ่อนผ้า
ไว้โน่นไว้นี่

ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง
ฉันจะตีก้นเธอ


ม้าก้านกล้วย

 


จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ทำม้าจากก้านกล้วยเสร็จ ผู้เล่นขี่คร่อม ผูกเชือกสะพายวิ่งควบม้าจากจุดเริ่มต้นไปจนยังจุดสิ้นสุด แข่งขันความเร็วกัน ผู้เล่นคนใดวิ่งถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

ก้านกล้วย และเชือก

 ม้าเขย่ง

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ตัดไม้ไผ่ยาวประมาณ 1.5 – 2 เมตร เว้นแขนงกิ่งที่แข็งแรงไว้ สำหรับเหยียบ จากนั้นผู้เล่นยืนบนแขนงกิ่งนั้นๆ ทรงตัวเดินไปมา หรือวิ่งแข่งขันกัน หากผู้เล่นคนใดตกลงมาก็จะเป็นฝ่ายแพ้

อุปกรณ์

ไม้ไผ่

 แมงมุมขยุ้มหลังคา



จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่น 2-4 คน

วิธีเล่น

ผู้เล่นใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ หยิบหลังมือของคนแต่ละคนสลับกัน เช่น คนที่ 2 ใช้มือซ้ายหยิบหลังมือซ้ายของคนที่ 1  คนที่ 3 ใช้มือซ้ายหยิบหลังมือของคนที่ 2  คนที่ 4 ใช้มือซ้ายหยิบหลังมือซ้ายของคนที่ 3  จากนั้นคนที่ 1 ใช้มือขวาหยิบหลังมือซ้ายคนของคนที่ 4  คนที่ 2 หยิบหลังมือขวาของคนที่ 1 ต่อๆ กันไป แล้วผู้เล่นทุกคนก็ยกมือที่หยิบกันต่อๆ นั้น ขึ้นๆ ลงๆ พร้อมกับร้องเพลงประกอบการเล่น พอร้องถึงวรรคสุดท้ายก็ปล่อยมือพร้อมๆ กัน แล้วเริ่มเล่นใหม่

อุปกรณ์

ไม่มี

เพลงประกอบ

“แมงมุมขยุ้มหลังคา

แมวกินปลา

หมากัดกระพุ้งก้น”

 ไม้โผละ



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ตัดไม้ไผ่รวกยาวประมาณ 1 ฟุต เป็นกระบอก เหลาไม้ไผ่เป็นก้านยาว ประกอบเข้าด้ามเป็นแก่น นำกระดาษชุบน้ำปั้นเป็นก้อนกลม มาอัดที่ปากกระบอกใช้แก่นกระทุ้ง ลูกกระดาษจะกระเด็นออกไปเสียดัง “โพละ”

อุปกรณ์

ไม้ไผ่รวก, กระดาษชุบน้ำ


รีรีข้าวสาร



จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่นมีจำนวน 6 คนขึ้นไป

วิธีเล่น

ให้ผู้เล่น 2 คน ยืนหันหน้าเข้าหากันแล้วเอามือประสานกันไว้เหนือศีรษะเป็นซุ้มประตู ส่วนผู้เล่นคนอื่นๆ เกาะไหล่กันเดินลอดซุ้มประตูพร้อมกับร้องเพลงประกอบไปด้วย พอเพลงจบคนที่เป็นซุ้มประตูก็จะลดแขนลงคร่อมตัวคนข้างหลังไว้ให้ได้ ดังนั้นคนที่อยู่หลังสุดก็จะต้องพยายามวิ่งลอดซุ้มประตูไปให้พ้น ถ้าถูกจับตัวได้ก็จะถูกคัดออกแล้วเล่นต่อไป

อุปกรณ์

ไม่มี

เพลงประกอบ

รี รี ข้าวสาร
เลือกท้องใบลาน
เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน

สองทะนานข้าวเปลือก
คดข้าวใส่จาน
พานเอาคนข้างหลังไว้

 ล้อต๊อก



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

วางไม้กระดานให้ด้านหนึ่งเอียงขึ้นสูง ด้านหนึ่งลาดลงติดกับพื้น (อาจจะใช้อะไรมาหนุนให้ด้านหนึ่งสูงขึ้น) ขุดหลุมเล็กๆ 1 หลุม ตรงกันข้ามกับกระดาน โดยให้มีระยะห่างประมาณ 1 เมตร  แล้วให้ผู้เล่นผลัดกันล้อเหรียญจากบนกระดานด้านที่เอียงขึ้นสูงให้กลิ้งลงมาลงหลุม  ถ้าลงจะได้คะแนน 1 คะแนน  เมื่อผลัดกันล้อได้คนละ 5 ครั้ง ก็รวมคะแนน ใครได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

1. ไม้กระดาน 1 แผ่น

2. เหรียญบาท หรือเหรียญ 5 บาท 1 เหรียญ


ลากทางหมาก

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่ายคือ ผู้เล่นฝ่ายนั่งและผู้เล่นฝ่ายลาก โดยใช้วิธีการเป่ายิ้งฉุบ หากฝ่ายใดแพ้ จะต้องลงมาลากทางหมาก ฝ่ายชนะจะได้นั่งบนทางหมาก

อุปกรณ์

“ทางหมากแห้ง” จากต้นหมาก

 ลิงชิงหลัก

 

จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่นจะมีจำนวน 4-6 คน

วิธีเล่น

ในจำนวนผู้เล่น จะต้องมี 1 คน ที่ต้องเล่นเป็น “ลิง” เด็กคนอื่นๆ ยืนประจำอยู่ที่หลักของตน เมื่อสัญญาณเริ่มดังขึ้น ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องวิ่งเปลี่ยนผลัดกัน ซึ่งในการเล่นนั้น จะต้องอาศัยความว่องไว และไหวพริบ เพื่อที่จะแย่งจับหลักให้ได้ก่อน หากใครถูกแย่งหลักไป ก็จะต้องมาเป็น “ลิง” แทน

อุปกรณ์

เสาบ้าน ต้นไม้ หรือใช้คนยืนเป็นหลัก

 ลูกข่าง

 

จำนวนผู้เล่น

แบ่งออกเป็น 2 พวก เท่า ๆ กัน

วิธีเล่น

ใช้เชือกพันรอบๆลูกข่าง ขว้างลงพื้นให้หมุนเมื่อลูกข่างจวนล้ม ผู้เล่นคนต่อไปก็ขว้างให้หมุนสืบเนื่องไป ผลัดกันขว้างไปเรื่อยๆ ให้ครบจำนวนผู้เล่น ลูกข่างใครหยุดก่อนถือว่าแพ้

อุปกรณ์

ลูกข่าง และเชือกสำหรับพัน

 ลูกดิ่ง

 


จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ใช้เชือกพันรอบลูกดิ่งหลายๆรอบ สอดห่วงไว้ในมือ ใช้ฝ่ามือเหวี่ยงลูกดิ่งขึ้นๆลงๆเป็นจังหวะ

อุปกรณ์

ไม้กลมๆ แบนๆ 2 อันประกอบกัน, เชือก

 ว่าว

 


จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ให้ผู้เล่นคนอื่นส่งว่าวซึ่งต้องยืนใต้ลม เมื่อลมพัดมาก็ส่งว่าวขึ้นไปแล้วกระตุกเชือกให้ว่าวขึ้นเรื่อยๆ และผ่อนสายว่าวจนติดลมบน

อุปกรณ์

กระดาษแก้ว, ไม้ไผ่, เชือกป่าน

 วิ่งกระสอบ



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

วางกระสอบปูไว้ที่พื้นตรงหน้าผู้เล่น โดยวางเรียงแถวหน้ากระดาน พอได้สัญญาณให้ผู้เล่นหยิบกระสอบมาสวมพร้อมๆ กัน  แล้ววิ่งไปที่เส้นชัย ให้เร็วที่สุดโดยไม่ให้หกล้ม ใครวิ่งไปถึงก่อนเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

กระสอบเท่าจำนวนผู้เล่น

 วิ่งเปรี้ยว



จำนวนผู้เล่น

ตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่ายเท่าๆกัน สถานที่เล่นมักจะใช้ลานกว้าง และมีต้นไม้สองต้นเป็นหลักแข่งกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายจะต้องจัดแถวประจำที่หลักของตนเอง เมื่อเริ่มเล่นคนที่อยู่หัวแถวต้องวิ่งไปอ้อมหลักของฝ่ายตรงข้าม จากนั้นวกกลับมาส่งผ้าให้ผู้เล่นถัดไปที่หลักของตน เป็นคนวิ่งต่อไป ผู้เล่นของแต่ละฝ่ายต้องพยายามวิ่งกวดและใช้ผ้าไล่ตีฝ่ายตรงข้ามให้ทัน หากฝ่ายใดไล่ตีได้ทันถือว่าเป็นผู้ชนะ

อุปกรณ์

1. ต้นไม้ 2 ต้น หรือหลัก 2 หลัก

2. ผ้า

 สิกไม้ย่างกางเกง



จำนวนผู้เล่น

เหมาะสำหรับเด็กผู้ชาย

วิธีเล่น

ผู้เล่นใช้มือจับไม้ท่อนยาวไว้ให้แน่น ใช้เท้าข้างใดข้างหนึ่งเหยียบบนไม้รอง เหยียบข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยๆ พยุงตัวขึ้นไปเหยียบอีกข้างหนึ่ง ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้คีบไม้ที่ตั้งไว้ จากนั้นก็ก้าวเดินเหมือนการเดินธรรมดา อาจจะเดินแข่งขันกันหลายๆ คนก็ได้

อุปกรณ์

ใช้ไม้ไผ่ท่อนโตๆ ยาวประมาณ 3 – 6 เมตร จำนวน 2 ท่อน วัดจากด้านล่างขึ้นมาตามความพอใจ เจาะรูให้กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ทั้ง 2 ท่อน เอาท่อนไม้ยาวประมาร 10 เซนติเมตร สวมเข้าไปทั้ง 2 ท่อน สำหรับใช้รองเหยียบ โดยมีไม้อันเล็กๆ ทำเป็นสลักใส่ไว้เพื่อความแน่นหนามั่นคง

หมายเหตุ

ทางใต้เรียก “ทองสูง” ทางอีสานเรียก “ขาโถกเถก”

 สีซอ



จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่น 2 คน

วิธีเล่น

คล้องเชือกด้วยนิ้วชี้และนิ้วก้อยทั้ง 2 ข้าง ผู้เล่นคนแรกสอดนิ้วกลางไปที่เส้นเชือกทั้งสองมือ เส้นเชือกจะอยู่ในลักษณะไขว้กัน 2 ปม มีเส้นตรงคู่ขนานอยู่ด้านนอกด้านละ 2 เส้น ผู้เล่นอีกคนหนึ่งสอดมือเข้าระหว่างเชือก ที่เป็นปมกับเส้นขนานกดเส้นตรงทั้งสองเส้นลง มือของผู้ถือเชือกจะอยู่ในท่าพนม ผู้เล่นอีกคนหนึ่ง เอาห่วงตรงนิ้วหัวแม่มือคล้องข้ามมือไปไว้ระหว่างนิ้วนางและนิ้วก้อย และเอาห่วงตรงนิ้วก้อยสลับข้ามมาคล้องทิ้งไว้ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ ผู้ถือเชือกกางมือออกเชือกจะมีลักษณะไขว้กัน 2 กัน ผู้เล่นอีกคนหนึ่งใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ทั้งสองมือที่จับปม ไขว้สอดลงใต้เส้นตรงทั้งสองเส้น ดึงเชือกออกจากมือผู้ถือคนแรก เส้นเชือกจะอยู่ในลักษณะไขว้เป็นตารางขนมเปียกปูนเล็ก ๆ โดยมีปมไขว้สี่ปม คือ ปมด้านข้างสองปม และปมด้านหน้ามือสองปม ผู้เล่นอีกคนหนึ่งใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือทั้งสองปมผู้เล่นอีกคนหนึ่งใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างจับปมที่ด้านข้าง ยกขึ้นมาสอดลงระหว่างช่องว่าง ดึงเชือกออกจากมือผู้ถือ เชือกจะเปลี่ยนเป็นรูปเส้นขนาน 2 เส้น อยู่ตรงกลาง คู่ขนาน 2 คู่อยู่ด้านนอก ใช้นิ้วก้อยทั้งสองข้างเกี่ยวเส้นขนานด้านในข้างละเส้นสลับมือกัน โดยเกี่ยวดึงไขว้มาแล้ว ใช้นิ้วหัวแม่มือสอดเส้นคู่ทั้งสองขึ้นเชือกจะเปลี่ยนเป็นเส้นขนาน 2 เส้นอยู่ด้านบนปมไขว้สองปมอยู่ด้านล่าง ผู้เล่นอีกคนหนึ่งจับปมด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ยกสอดลงระหว่างเส้นคู่ขนานด้านบน เชือกจะกลายเป็นปมรูปขนมเปียกปูนอันใหญ่หนึ่งอัน ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับที่ปมกดลงล่าง เชือกจะเปลี่ยนรูปไปเป็นสี่เหลียมขนมเปียกปูนที่มีเส้นคู่ขนานอยู่ภายในเป็นแกนกลาง ผู้เล่นอีกคนหนึ่งจะได้สีซอโดยการดึงเส้นคู่ขนาน 1 เส้นขึ้นเส้นหนึ่ง ดึงลงไป ๆ มา ๆ เหมือนเวลาสีซอ เป็นอันจบเกมการละเล่นชนิดนี้

อุปกรณ์

เส้นด้ายหรือเชือกเส้นเล็กๆ ขนาดยาวพอสมควร ผูกเป็นวงกลม เชือกต้องไม่สั้นเกินไป มิฉะนั้นจะสีซอไม่ได้

 เสือกินวัว



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

เลือกผู้เล่นคนหนึ่งเป็นวัว อีกคนหนึ่งเป็นเสือ ที่เหลือนอกนั้นจับมือกันยืนล้อมวงเป็นคอกวัว ให้วัวอยู่กลางวง ส่วนเสืออยู่นอกวงและพยายามจะเข้าไปในคอกเพื่อจับวัวกิน คอกก็ต้องจับมือกันแน่นๆ ไม่ให้เสือฝ่าเข้าไปได้ เสือต้องพยายามหาคอกด้านที่คิดว่าไม่แน่นหนา และฝ่าเข้าไป เมื่อเข้าไปได้เสือต้องพยายามหาคอกด้านที่คิดว่าไม่แน่นหนา และฝ่าเข้าไป เมื่อเข้าไปได้ก็ไล่จับวัวให้ได้ วัวจะวิ่งหนีทันที ซึ่งมักหนีออกไปนอกคอก พอเสือจะตามไปคอกก็ต้องพยายามกันไว้ ถ้าเสือฝ่าออกไปได้ ก็จะวิ่งไล่จับวัว พอจับได้ก็ถือว่าการเล่นสิ้นสุดลง จะเปลี่ยนให้คนอื่นมาเป็นเสือกับวัวแทนคู่เก่าที่ไปเป็นคอกบ้าง

อุปกรณ์

ไม่มี

 เสือข้ามห้วย

 

จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่นมีจำนวน 6-8 คน

วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆกัน แต่ละฝ่ายส่งตัวแทนมาเป่ายิ้งฉุบกัน หากฝ่ายใดชนะได้เล่นเป็น “เสือ” ฝ่ายแพ้ต้องเป็น “ห้วย” ให้เสือกระโดดข้าม ฝ่ายเสือต้องกระโดดข้ามห้วยให้ครบทุกท่า ฝ่ายผู้เล่นเป็นห้วยนั่งลงเหยียดขาข้างหนึ่งออกไปเป็นท่าที่ 1 หลังจากนั้นก็จะเป็นท่าที่ 2, ท่าที่ 3, ท่าที่ 4 ซึ่งในแต่ละท่าต้องต่อแขนต่อขาเพิ่มความสูง ให้ฝ่ายเสือกระโดดข้ามยากขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าฝ่ายผู้เล่นเป็นเสือกระโดดไม่ผ่าน ก็จะต้องเปลี่ยนฝ่ายมาเป็นห้วยในเกมต่อไป

อุปกรณ์

ไม่มี

 เสือตกถัง

 

จำนวนผู้เล่น

2 คน

วิธีเล่น

นำกระดาษมาเขียนเส้นทะแยงมุม 2 เส้น เขียนวงกลมเล็กๆให้สมมุติเป็นถังในช่องใดช่องหนึ่งของเส้นทะแยงมุม 2 เส้น นำเบี้ยมาวางสมมุติให้เป็นเสือผลัดกันเดินไปมา ฝ่ายใดตกถังก็จะแพ้ไป

อุปกรณ์

กระดาษ, เบี้ย

 หนังสติ๊ก

 
จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

นำง่ามไม้ ตัดด้ามจับพอประมาณและก้านทั้งสองข้างห่างจากง่ามประมาณ 10 ซม. ใช้ยาง 2 เส้น ด้านหนึ่งผูกกับแผ่นหนัง และอีกด้านหนึ่งผูกกับปลายของด้ามยิงทั้งสองข้าง เวลายิงอาจใช้ก้อนอิฐหรือก้อนดินแข็งๆ ก้อนเล็กๆ ก็ได้ ใส่ลงแผ่นหนังออกแรงดึงแล้วปล่อยออกไปอย่างแรง การยิงหนังสติ๊กถ้าไปโดนใครเข้า เกิดการบาดเจ็บได้

อุปกรณ์

ง่ามไม้ (ช่วงของก้านที่แตกกิ่ง), เส้นยาง 2 เส้น, แผ่นหนัง, ก้อนอิฐ หรือดิน ก้อนเล็กๆ

 หมากเก็บ



จำนวนผู้เล่น

ผู้เล่น 2 – 4 คน

วิธีเล่น

ขึ้นร้านเพื่อเสี่ยงทายว่าใครจะเล่นก่อน โดยกำก้อนหินทั้ง 5 ก้อนไว้โยนขึ้น ใช้หลังมือรับแล้วโยนขึ้นอีกครั้งใช้ฝ่ามือรับ ใครได้ก้อนหินมากที่สุดเป็นผู้เล่นก่อน

หมากที่ 1 หว่านก้อนหินลงบนพื้น แล้วหยิบขึ้นมา 1 ก้อน โยนขึ้นไปแล้วรีบหยิบก้อนหินทั้ง 4 ก้อนทีละเม็ดพร้อมกับรับก้อนหินที่โยนขึ้นไปให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่าตาย และถ้าหยิบก้อนหินทีละก้อนนิ้วมือไปโดนก้อนหินอื่นก็ถือว่าตายเช่นกัน ต้องให้คนอื่นเล่นต่อ

หมากที่ 2 เก็บทีละ 2 ก้อน

หมากที่ 3 เก็บ 3 ก้อน และ 1 ก้อน

หมากที่ 4 เก็บ 4 ก้อน แล้วขึ้นร้านนับคะแนน

อุปกรณ์

ก้อนหินที่มีลักษณะกลมๆ จำนวน 5 ก้อน

 หมากขุม



จำนวนผู้เล่น

2 คน

วิธีเล่น

มีผู้เล่น ๒ คน นั่งตรงข้ามกัน มีรางหมากขุมตั้งกลาง (ขุมหรือหลุม) ลักษณะรางหมากขุมยาวคล้ายเรือ  หัวเรือหรือหัวเรือก้นเป็นขุมเรียกว่า เมือง เมืองของแต่ละคนอยู่ทางซ้ายมือของตัวเอง เป็นที่สำหรับใส่ลูก ตรงกลางเรือแบ่งเป็น ๒
ซีกยาว แต่ละซีขุดเป็นขุม ๕ ขุม หรือ ๗ ขุมก็ได้ ใส่ลูกขุมละ ๕ ลูก ข้างหนึ่งจะใช้ ๒๕ ลูก พร้อมแล้วก็เริ่มเล่น เรียกว่า เดินลูก วิธีเดินลูก จะหยิมลูกขุมใดก่อนก็ได้ ทางซีกของผู้เล่นเดินไปข้างหน้าพร้อมกับ หยอดลูก ๑ ลูก ลงไปในทุกขุมที่ผ่านจนถึงเมืองก็
หยอดลูก ๑ ลูกถ้าเหลือก็เดินวนไปทางซีกของฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ต้องหยอดลูกในขุมเมือง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนหมดลูก ถ้าหมด
ลูกตรงเมืองเราพอดี

อุปกรณ์

ลูกสวด ลูกยางพารา หรือลูกแก้วก็ได้ ประมาณ ๕๐ เม็ดพร้อมด้วยรางหมากขุม


ห่วงยาง



จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

มีวิธีการเล่นคล้ายกับลูกช่วง แต่อุปกรณ์การเล่นใช้ห่วงยางและมีกติกาต่างออกไปเล็กน้อย คือเมื่อผู้เล่นโยนห่วงยางให้ฝ่ายตรงข้ามรับ ถ้าฝ่ายตรงข้ามรับไม่ได้ แต่มือถูกห่วงแล้วต้องไปเป็นเชลยของตน ถ้าเชลยรับได้ เอาห่วงไปแตะฝ่ายตรงกันข้ามที่ถูกแตะต้องตกเป็นเชลย เล่นกันจนฝ่ายใดเหลือน้อยที่สุด ฝ่ายนั้นแพ้

อุปกรณ์

ห่วงยางสำหรับโยน


หัวล้านชนกัน

 

จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

เป็นการละเล่นที่สามารถเล่นกันได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การเล่นต้องกำหนดขอบเขตของพื้นที่โดยรอบ ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายนั่งลง ใช้หัวชนกันแล้วใช้กำลังของตนดันอีกฝ่ายให้หลุดออกไปนอกขอบเขตที่กำหนดไว้ ใครสามารถดันให้อีกฝ่ายหนึ่งออกนอกเขตได้คือผู้ชนะ แต่ขณะเล่นห้ามผู้เล่นใช้อวัยวะส่วนอื่น นอกจากหัวดันคู่ต่อสู้ ส่วนมือ เข่า และเท้าต้องแนบพื้นตลอดเวลา

อุปกรณ์

ไม่มี


อ้ายเข้อ้ายโขง





 จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

สมมุติให้บนพื้นเป็นแม่น้ำมี 2 ฝั่ง อ้ายเข้อยู่กลางแม่น้ำ คนอื่นๆ อยู่บนบก และจำเป็นต้องว่ายน้ำข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง โดยวิ่งข้ามไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างที่วิ่งก็จะร้องเพลงไปด้วย คนที่ขึ้นฝั่งได้ก็จะทำท่าล้อหลอกต่างๆ ส่วนอ้ายเข้จะต้องพยายามจับคนที่กำลังวิ่งข้ามฝั่งให้ได้ ใครถูกจับจะต้องเป็นอ้ายเข้แทน

อุปกรณ์

ไม่มี

เพลงประกอบ

อ้ายเข้อ้ายโขง
อ้ายเข้ฟันหัก

อยู่ในโพรงไม้สัก
กัดคนไม่เข้า


อีตัก





จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นทุกคนโปรยเม็ดมะขามเท่าๆกัน ห่อใบไม้เป็นรูปช้อนสำหรับตัก ในการตักจะต้องตักทีละเม็ด หากกระเทือนเม็ดอื่นจะหมดสิทธิ์สนการเล่น จะต้องให้ผู้เล่นคนอื่นเล่นต่อ หากใครได้มากที่สุดจะถือเป็นฝ่ายชนะ

อุปกรณ์

เม็ดมะขาม และใบไม้


อีลุ่มตุ้มโพล๊ะ





จำนวนผู้เล่น

ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น

ผู้เล่นกำมือของตนเอง แล้วยื่นมาข้างหน้าวางซ้อนกัน แล้วร่วมกันร้องเพลง เมื่อจบเพลงมือที่อยู่ด้านล่างสุดต้องแบออก แล้วเริ่มร้องใหม่ ตัวเลขของไข่ก็จะลดจำนวนลงตามจำนวนของมือที่เหลืออยู่ การละเล่นชนิดนี้ไม่มีผู้แพ้หรือชนะ เมื่อจำนวนไข่แตกหมดก็อาจเริ่มต้นการเล่นใหม่ก็ได้





http://www.stjohn.ac.th/department/internet_rally/rally5_47/it_cul/

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น